- ภาวะท้องผูก เป็นอาการที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร เกิดได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย สำหรับรายที่มีอาการท้องผูกเล็กน้อย คงไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาในการรักษาแต่อย่างใด แต่หากมีอาการท้องผูกมากขึ้น และเป็นประจำ การใช้ยา ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ท้องผูกจัดเป็นอาการ มิใช่เป็นชื่อของโรค การจะทราบว่าใครมีภาวะท้องผูกบ้าง อาจดูได้จากอาการต่อไปนี้ คือ ต้องเบ่งอุจจาระมากกว่าร้อยละ 25 ของการขับถ่ายทั้งหมด หรือการมีภาวะอุจจาระแข็ง ถ่ายอุจจาระไม่หมด รู้สึกตุงบริเวณทวารหนัก หรือต้องใช้นิ้วล้วงทวารหนักเพื่อช่วยการขับถ่าย และ สุดท้าย คือ จำนวนการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากเกิดอาการข้างต้นมากกว่า 2 อาการ ถือว่ามีภาวะท้องผูก
- สาเหตุการเกิดอาการท้องผูกอาจเกิดได้จาก
1. มีความผิดปกติทางกายภาพ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางสรีระ หรือโรคของลำไส้ รูทวาร ไขสันหลัง ความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่ายการอุดตันของลำไส้ มะเร็งลำไส้ หรือพบร่วมกับโรคของระบบอื่น เช่น ภาวการณ์มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายความกังวล ยารักษาโรคจิตและอาการซึมเศร้า เป็นต้น
2. ท้องผูกโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ เป็นอาการท้องผูกที่พบในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรค สาเหตุอาจเกิดได้จากอุปนิสัยการขับถ่าย ความเป็นอยู่หรือสิ่งแวดล้อม อารมณ์และจิตใจก็ได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ดื่มน้ำน้อย การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น หรือแม้แต่การกลั้นอุจจาระเนื่องจากความรีบร้อนในการทำงาน ทำให้ละเลยต่อการปวดถ่าย
- การรักษาอาการท้องผูก
1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา กรณีภาวะที่มีอาการท้องผูกไม่รุนแรง อาการหายไปโดยไม่ต้องใช้ยาได้ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้
- ควรรับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผักต่าง ๆ และดื่มน้ำมาก ๆ
- พยายามปรับสภาพชีวิตประจำวันให้มีการออกกำลังกายให้มากขึ้น เช่น ลดการใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อนแล้วใช้การเดินแทน หรือการเดินแทนการขึ้นรถในระยะทางใกล้ๆ
- บริหารร่างกายส่วนที่ให้ผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหน้าท้อง เพราะจะช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นปกติและเป็นเวลา เช่น การให้นอนราบ เอามือวางบนอก เกร็งกล้ามเนื้อให้พยุงตัวขึ้นนั่ง โดยพยายามอย่างอเข่าหรือยกเท้า ทำซ้ำเช่นนี้หลายๆครั้ง
2. การรักษาโดยการใช้ยา เมื่อเกิดภาวะท้องผูกและมีความจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาควรใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์โดยเฉพาะยากลุ่มที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการติดยาและการเกิดกลุ่มอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ซึ่งจะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงมากกว่าปกติ เยื่อเมือกบุผนังลำไส้เหี่ยวผิดปกติ กล้ามเนื้อใต้เยื่อบุผิวลำไส้หนามากขึ้น ปมประสาทเสื่อมและเกิดการสูญเสียโปรตีนทางลำไส้ได้ หนึ่งในยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ที่รู้จักกันดี คือ มะขามแขก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น